ปราสาทศีขรภูมิเป็นหนึ่งในปราสาทที่มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์แห่งหนึ่ง ในเส้นทางปราสาทหินของเราในทริปนี้ ด้วยว่า มีทับหลังที่กล่าวกันว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย และมีภาพของนางอัปสรแบบเดียวกับนครวัด เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยพบเพียงที่เดียวคือ ปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

ความน่าสนใจของปราสาทหินแห่งนี้ ก็คงอยู่ที่สถาปัตยกรรมแบบเขมร สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งนับว่าเป้นช่วงรุ่งเรืองของเขมรเลยทีเดียว เป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกายครับ คือนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด
ปราสาทศีขรภูมิ มีอีกชื่อหนึ่งว่า ปราสาทระแงง แต่ที่สะดุดตาสงสัยมากกว่า คือ ชื่อปราสาทในปัจจุบันนั้นแหละครับ ว่าใช้คำว่า "ศีขรภูมิ" หรือ "ศรีขรภูมิ" จะศรี หรือ ศี เพราะว่าครั้งที่ผมไปถึงตัวปราสาทก็มีป้ายชื่อปราสาทปรากฏให้เห็นกันทั้งสองแบบ คำว่า "ศีขรภูมิ" เขียนตามชื่ออำเภอครับ ส่วน"ศรีขรภูมิ" ก็เห็นมีคนใช้กันมากเวลาพิมพ์ในอินเตอร์เนต

ป้ายนี้เขียน ศรีขรภูมิ

จ่ายเงินก่อนเข้าครับ คนไทย 10 บาท

การมาเที่ยวของเราแน่นอนว่าสิ่งที่ต้องตามหาเป็นอย่างแรกคือ การได้เห็น นางอัปสรกับตาให้ได้ ว่าเหมือนที่นครวัดอย่างไร และอีกสิ่งคือการได้ยลทับหลังที่ปรางปราสาทหลัก ซึ่งว่ากันว่างดงามและสวยงามที่สุด ในบรรดาทับหลังที่พบในประเทศไทยเลยล่ะครับ
มาดูลักษณะของปราสาทศีขรภูมิกันบ้าง ตัวปราสาทศีขรภูมิ มีลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ ปรางค์ประธานสูงประมาณ 32 เมตร เป็นปราสาทก่ออิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยตัวฐานก่อด้วยศอลาแลงกว้าง 25 เมตร ยาว 26 เมตร สูง 1.5 เมตร มีคูน้ำ ล้อมรอบสามด้าน กว้าง 125 เมตร โดยเว้นด้านตะวันออกอันเป็นทางเข้าไว้

องค์ปราสาทแถวหลังฝั่งทิศใต้ เป็นแบบศิลปะล้านช้าง เกิดจากการบูรณะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ซึ่งมีหลักฐานจารึกไว้ถึงการบูรณะ ซึ่งคิดว่าคงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนา ตามจารึกอักษรธรรมที่ปรากฏอยู่ ณ ปราสาทหลังนี้
ทับหลังที่ปรางค์ประธาน เป็นทับหลังที่มีความสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของเมืองไทย เป็นภาพพระศิวะเต้นรำ (พระศิวะนาฏราชสิบกร)อยู่บนหงษ์ 3 ตัวเหนือหน้ากาล ภายใต้วงโค้งลายท่อนมาลัย ซึ่งสลักเป็นภาพพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และพระอุมา เป็นศิลปะขอมสมัยนครวัด ราวศตวรรษที่17

ทับหลังที่ปรางค์ประธาน เป็นรูปพระศิวะนาฏราชสิบกร

ปรางค์องค์ประธาน ปราสาทศีขรภูมิ

ด้านในมีศิวลึงค์ด้วย
ตามความเชื่อ การเต้นรำของพระศิวะนั้น มีควาสำคัญมาก ตรงที่ถ้าพระองค์เต้นรำด้วยความสวยงามโลกก็จะอยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าเต้นรำด้วยจังหวะที่รุนแรงดลกก็จะปั่นป่วนวุ่นวาย กล่าวกันว่าท่าเต้นรำของพระองค์ มีถึง 108 ท่า
บริเวณเสากรอบประตูสลักเป็นรูปนางอัปสรถือดอกบัว และทวารบาลยืนกุมกระบอง ซึ่งนางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมินี้มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา จุดนี้ถือว่าเป็นไฮไลท์ของการมาเยี่ยมชมปราสาทแห่งนี้เลยก็ว่าได้ครับ

ภาพนาอัปสราที่ปรางค์ประธาน
เพราะ ถ้าจะต้องมองหานางสวรรค์อย่างนางอัปสราแล้วล่ะก็ ในประเทศไทย มีที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นครับ คือ ปราสาทศีขรภูมิ เที่ยวปราสาทศีขรภูมิแล้ว สะดุดตาแนะนำ กาละแมศีขรภูมิครับ เป็นของฝากและของกินเล่นอร่อยๆ ซื้อได้ที่ร้านอยู่ฝั่งตรงข้ามกับปราสาทศีขรภูมินั้นเอง

กาละแมศีขรภูมิ

ปราสาทศีขรภูมิมีสระน้ำล้อมรอบ
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น.
อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย คนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ข้างวัดบ้านปราสาท บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ (อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอศีขรภูมิเพียง 500 เมตร)
การเดินทาง : ใช้ทางหลวงหมายเลข 226 จากตัวเมืองสุรินทร์ มาที่ปราสาทศีขรภูมิ เพียง 34 กิโลเมตรเท่านั้น
แผนที่
จุด A แสดงที่ตั้งของปราสาทศีขรภูมิ
ประเภทบทความ:
จังหวัด:
ประเภทสถานที่ท่องเที่ยว: